gadget รูปภาพ

gadget รูปภาพ
การเพิ่ม gadget รูปภาพ

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"เกม"กับ"เยาวชน" ปัญหาที่(ใคร)ต้องแก้


ยิ่งนานวันก็ดูเหมือนว่านานาปัญหาเกี่ยวกับ "เยาวชน" จะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่า "เซ็กซ์" กับ "วัยรุ่น" "เด็กแว้น-เด็กสก๊อย" หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้อย่าง "เกม" กับ "เยาวชน" ที่ลุกลามถึงขั้นเกิดเหตุอึ้ง ทึ่ง เสียว เยาวชนก่อเหตุฆ่าแท็กซี่ โดยเลียนแบบพฤติกรรมจากเกม

เกือบทศวรรษที่ผ่านมานั้น "สื่อดิจิตอล" "สื่อใหม่" (New Media) เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมคอมพิวเตอร์ และเกมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในหมู่เยาวชนไทย ในด้านหนึ่งเกมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น การเล่นเกมทำให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน คลายเครียด เกิดความภาคภูมิใจเมื่อได้รับชัยชนะ ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการทำภารกิจให้ประสบความสำเร็จ

แต่ในทางตรงกันข้ามการเล่นเกมก็ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการเลียนแบบความรุนแรง การล่อลวง หรือแม้แต่ภาวะการติดเกม สารพันปัญหาที่สังคมต่าง "โยนความผิด" นั้น แท้จริงเกิดขึ้นจากเกมเพียงเท่านั้น กระนั้นหรือ

หรือเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ และใครต้องรับแก้ปัญหานี้ เชื่อว่าเยาวชนซึ่งอยู่ใกล้ต้นตอของปัญหา น่าจะให้สะท้อนปัญหาได้ชัดเจนที่สุด

น.ส.ศศิวิมล โคตรธนู หรือ น้องหญิง นักศึกษาหลักสูตรอุตสาห กรรมท่องเที่ยว แขนงธุรกิจการบิน คณะวิทยาการจัดการ ชั้นปีที่ 3 มหา วิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวถึงปัญหาเยาวชนติดเกม ว่าเกิดจากเพื่อนกันเองชวนต่อๆ กัน เมื่อไปลองเล่นแล้วก็ติด ในการเล่นเกมคอมพิว เตอร์นั้นส่งผลในทางบวกก็คือ ได้ฝึกทักษะการสังเกต ศัพท์ภาษาอังกฤษ คลายเครียด ในทางกลับกันผลเสียก็ตามมามากมายหากผู้เล่นเกมแบ่งเวลาไม่ถูกจะเสียทั้งเงิน การเรียน สังคม และยังส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมเลียนแบบโดยใช้ความรุนแรง

"ตามที่มีข่าวเด็กนักเรียน ม.6 ฆ่าคนขับรถแท็กซี่ตาย โดยวางแผนมาอย่างดีและอ้างว่าเลียนแบบเกมออนไลน์ สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น มองว่าควรเริ่มจากครอบครัวก่อนจะต้องรักและดูแลอย่างใกล้ชิด ร้านเกมควรตระหนักถึงปัญหาโดยควบคุมอายุของเด็กที่ไปเล่นเกมและจัดประเภทเกมให้เหมาะสม นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่เด็ดขาดในการปราบปรามกรณีร้านเกมหรือมีผู้นำเข้าเกมที่ไม่เหมาะสมเข้ามาในประเทศไทย" น.ส.ศศิวิมล กล่าว

นายธนัช สิทธาวรากุล หรือ น้องเจแปน หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่าตนเองก็เป็นผู้ที่ชอบเล่นเกม ปกติจะเล่นเกือบทุกวัน วันละ 3-4 ชั่วโมง เพื่อความสนุกสนานและคลายเครียด และเกมก็มีมากมายหลายประเภทให้เลือกเล่นและยังเป็นเกมที่สร้างสรรค์อีกด้วย

"ส่วนตัวมองปัญหาการเล่นเกมของเด็กว่า ขึ้นอยู่กับตัวผู้เล่นเองในการแยกแยะระหว่างความเป็นจริงกับบทบาทสมมติในเกมให้ออกจากกันให้ได้ รู้จักการแบ่งเวลาให้ถูก นอกจากนี้ ร้านเกมก็ต้องมีจิตสำนึกที่ดี ไม่นำเข้าเกมที่ไม่เหมาะสมเข้ามา ผู้ปกครองคอยช่วยสอดส่องดูแล สถาบันการศึกษาก็ช่วยผลักดันจัดหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็ก ปัญหาการติดเกมสำหรับเด็กก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป" นายธนัชกล่าว

นายทรงวุฒิ สาฟูวงศ์ หรือ น้องเคน หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาการเล่นเกมของเยาวชนขึ้นอยู่กับการเลือกที่จะเล่นเกม เนื่องจากเกมที่มีประโยชน์ ส่งเสริมปัญญาก็มีเยอะ แต่หากไม่รู้จักเลือกเล่นเกม หรือแบ่งเวลาก็จะส่งผลเสียตามมามากมาย เช่น สายตาเสีย ชอบเอาชนะ ก้าวร้าว เสียการเรียน เกิดการมั่วสุม ฯลฯ

"ด้านการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ตนเอง มองว่าสิ่งแรกควรเริ่มจากพ่อแม่ ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม คุยกับลูกให้ได้ทุกเรื่อง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายในครอบ ครัว ต่อมาหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการและบทลงโทษที่รุนแรง พร้อมทั้งเข้มงวดในการปราบปรามเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ควบคุมการเปิด ปิดร้านเกม มีการจัดแบ่งประเภทเกมให้เหมาะสมกับอายุของเด็กในแต่ละวัย และสิ่งสำคัญเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ต้องมีความชำนาญและตามให้ทันเกมใหม่ๆ จะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น" นายทรงวุฒิกล่าว

นานาทรรศนะจากเยาวชนไทย ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหา "เกม" กับ "เด็ก" ซึ่งต้นตอของปัญหาส่วนหนึ่งนั้น เกิดจากผู้ใหญ่แค่เปลือกนอกบางส่วน ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ขาดจิตสำนึกต่อสังคม โดยผลิตหรือนำเข้าเกมที่แฝงไปด้วยความรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่ตามมา

ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ "ใช้เงินเลี้ยงลูก" แต่ ขาดการดูแลเอาใจใส่ นอกจากนั้นการขาด "เจ้าภาพ" ที่ดูแลปัญหาเยาวชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหาใน เชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด ต่อผู้กระทำผิดของภาครัฐนั้น ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ "ปัญหาเยาวชน" กลายเป็นปัญหาที่เพิ่งล้อมคอก แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบไม่สิ้น

ก็คงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องแก้ไขอย่างจริงจัง อย่าแก้แบบไฟไหม้ฟาง หากแก้แบบนี้ ไม่ต้องมองถึงอนาคต แค่มอง ณ วันนี้ ยังดูว่า "รอดยาก"

ไม่ใช่เกิดปัญหาทีแก้กันที หากเป็นเช่นนี้ อนาคตที่ดีคงไม่มีสำหรับเด็กไทย
ที่มา http://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=231&Itemid=112

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น