gadget รูปภาพ

gadget รูปภาพ
การเพิ่ม gadget รูปภาพ

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วัยรุ่นไทยกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง


จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ต่อมาในภายหลังพระองค์ยังทรงย้ำแนวทางการแก้ไข และสามารถดำรงชีวิตให้ประชาชนชาวไทยสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้น มีพสกนิกรชาวไทยหลายคนได้นำแนวทางปรัชญาพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กำลังครอบงำให้ประชาชนหลงใหลไปกับนโยบายที่พยายามให้ประชาชนมีหนี้ของภาครัฐ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้ระบบทุนนิยมที่พยายามสร้างค่านิยมให้กับวัยรุ่น วัยเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องใช้ของแบรนด์เนม ใช้ของราคาแพงเกินความจำเป็น ดังนั้นนักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ "วิถีชีวิตวัยรุ่นไทย ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง"

โดยมี "คุณปราโมทย์ ไม้กลัด รักษาการสมาชิกวุฒิสภา, ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, สุธัมมะ ธรรมศักดิ์ นักศึกษาปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์" ร่วมการสัมมนาโดยมีผู้ดำเนินรายการคืออาจารย์ "สร้อยนภา วัฒนากิตติกูล"
ทั้งนี้จากการสัมมนาคุณปราโมทย์ได้กล่าวว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้จำกัดไว้เพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ควรจะเรียกว่าปรัชญาความพอเพียง เพราะ หากปฏิบัติตนอยู่ในพื้นฐานของความพอเพียงแล้วจะอยู่ได้อย่างมั่นคง
โดยคุณปราโมทย์ได้ขยายความปรัชญาของความพอเพียงว่าแท้จริงแล้วคือไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ก็ตามต้องทำอย่างรู้จักพอประมาณ พอดี รู้เหตุผล
"หากโยงเข้าพระพุทธศาสนาก็คือทางสายกลางไม่สุดโต่ง ไม่ย่อหย่อน เรียกว่าพอดี" คุณปราโมทย์กล่าว และกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่าความพอเพียงสำหรับวัยรุ่นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือการทำให้วัยรุ่นเข้าใจเรื่องความพอเพียง แล้วก็เรื่องค่าใช้จ่ายของเขา เขาก็ต้องมีจิตสำนึก รู้จักการบริหารเงิน รู้จักใช้จ่ายคือเราต้องทำให้เขาเข้าใจและตระหนัก"
"ปัจจุบันเราเห็นเป็นจำนวนมากที่ไม่เข้าใจไม่ตระหนัก วัยรุ่นเป็นวัยแสวงหา เที่ยวเตร่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย มือถือ เรารู้สึกได้ว่าเขาไม่มีสำนึกตรงนี้น่าเป็นห่วง"
ส่วนคุณสุธัมมะให้ความเห็นเรื่องความพอเพียงว่าความพอเพียงไม่ได้จำกัดอยู่ในเรื่องของเกษตรเท่านั้น และอยู่อย่าง งก อย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นการอยู่อย่างไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
"ใครอยากไปเที่ยวที่ไหนก็ไปได้ แต่ต้องดูด้วยว่ามีกำลังพอที่จะเที่ยวได้เท่าไหร่ หากต้องหยิบยืมเงินเพื่อนอย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าเพียงพอ คือเราต้องรู้จักพอประมาณเช่น นักศึกษาหญิงหลายๆ คนอาจจะมีรองเท้ามากกว่า 5 คู่ ที่จริงแล้วมีสัก 3 คู่ก็น่าจะพอคือมีรองเท้าแตะ 1 คู่ รองเท้าผ้าใบ 1 คู่ แล้วก็รองเท้าสำหรับสวมมาเรียนอีก 1 คู่"
นอกจากนี้ในเรื่องของการเดินชอปปิ้งนั้นสุธัมมะยังบอกด้วยว่าถ้าไปโดยมีเป้าหมายว่าจะไปเพื่อซื้ออะไร ซื้อไปเพื่อทำอะไรแบบนี้เรียกว่ามีเหตุผล แต่ถ้าไปเดินๆ อยู่แล้วเจอของสักชิ้นที่ถูกใจก็ซื้อเลยโดยไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นเช่นนี้ก็ถือได้ว่าไม่รู้จักพอประมาณ
"เชื่อว่าในยุคนี้คงจะมีโทรศัพท์มือถือใช้กันแทบทุกคน แต่การที่จะใช้อย่างพอเพียงก็ควรจะดูว่าตัวเองมีความจำเป็นในการใช้แค่ไหนเช่นใช้โทรออก รับสาย ถ่ายรูป ก็เลือกใช้รุ่นที่มีเท่าที่ใช้ ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้รุ่นที่มีราคาสูงแล้วพวกฟังค์ชั่นต่างๆ ที่มีก็ไม่ได้ใช้แบบนี้ก็เรียกว่าไม่รู้จักเพียงพอ"
ส่วนเรื่องที่วัยรุ่นใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากนั้น สุธัมมะให้ความคิดเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เราอยู่ในกระแสวัตถุนิยมที่ไม่ได้เชิดชูเรื่องของจริยธรรมและคุณธรรม
"สมมติมีลุง 2 คนเดินมา ลุงคนหนึ่งสวมสูท ส่วนลุงอีกคนหนึ่งสวมเสื้อม่อฮ่อม ต้องถามว่าเราจะไหว้ใคร แน่ล่ะส่วนใหญ่ก็จะไหว้คนสวมสูทก่อน เพราะ เราไม่ได้นับถือคนที่จิตใจ เรื่องนี้เราต้องดูว่าเป็นเพราะอะไร และสาเหตุหนึ่งก็คือลัทธิทุนนิยมที่ครอบงำ เช่นการเปิดเสรีทางการค้า ก็เป็นการพยายามให้ได้ผลประโยชน์ในตัวเงินมากที่สุด พ่อค้าก็ต้องหาทางกระตุ้นให้เราซื้อสินค้าของเขา
ยิ่งหากมีรัฐบาลที่เป็นพ่อค้ามาส่งเสริมตรงนี้ ยิ่งทำเรื่องพอเพียงได้ยาก"
ทางด้านดร.ปรียานุชกล่าวว่าการที่จะรู้ว่าตัวเองใช้ชีวิตอย่างพอเพียงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องยากโดยยกตัวอย่างเรื่องค่าโทรศัพท์ที่บางเดือนนักศึกษาบางคนใช้มากจนไม่มีเงินเหลือพอที่จะซื้อหาขนมมาทาน
"ตรงนี้เราต้องรู้ว่าตัวเราเองมีความสามารถในการใช้จ่ายแค่ไหน ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เดือนต่อไปเกิดขึ้นอีก การซื้อของก็เหมือนกัน เราต้องรู้จักประมาณ ไม่ใช่เห็นอะไรอยากได้อยากมีไปเสียหมดทุกอย่าง ทางแก้ก็คือตั้งสติให้ดีว่าเราจะใช้อะไร ทำอะไร สติเป็นก้าวแรกของการใช้เศรษฐกิจพอเพียง"
นอกจากนี้ดร.ปรียานุชยังได้แนะนำการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังนี้
- การพึ่งตัวเองเป็นหลัก การทำอะไรควรทำเป็นขั้นตอน รอบคอบ ระมัดระวัง - พิจารณาถึงความพอดี พอเหมาะ พอควร ความสมเหตุสมผล และการพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง - การสร้างสามัคคีให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความสมดุลในแต่ละสัดส่วน แต่ละระดับ - ครอบคลุมทั้งทางด้านจิตใจ วัฒนธรรม สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจ
สุดท้ายคุณปราโมทย์ยังบอกอีกด้วยว่าปัญหาเรื่องความไม่รู้จักพอเพียงที่เกิดขึ้นนั้นจะโทษวัยรุ่นไม่ได้ ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ครู เป็นบุคคลที่สำคัญ เพราะ ผู้ใหญ่ต้องตระหนักและชัดเจนถึงความพอเพียง ถ้าผู้ใหญ่ยังไม่รับรู้ รับทราบ ตรงนี้อันตราย เพราะ เหมือนเรื่องแม่ปู กับลูกปู เขาเห็นผู้ใหญ่เป็นอย่างไร เขาก็เป็นแบบนั้น
ที่มา http://songkhlahealth.org/paper/512

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น