gadget รูปภาพ

gadget รูปภาพ
การเพิ่ม gadget รูปภาพ

วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553


วิวัฒนาการกฎหมายไทย

พระราชกำหนดบทพระอัยการของไทย
ตามคำไทยแต่เดิม "กฎหมาย" หมายแต่เพียงว่าเป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินที่โปรดให้กดไว้หมายไว้เพื่อใช้บังคับเป็นการคงทนถาวร จะเห็นได้ในพงศาวดารเหนือ (ฉบับของพระวิเชียรปรีชา) ตอนที่พระยาพสุจราชแห่งราชวงศ์พระร่วงได้จัดการแต่งบ้านแต่งเมืองออกรับกองทัพพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีความว่า "แล้วให้กำหนดกฎหมายไว้ทุกหน้าด่าน แล้วให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมืองกัมโพชนคร ให้กำหนดกฎหมายสืบ ๆ กันไปถึงเมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมือง... ฯลฯ"[13] ในภาษาไทยแต่เดิม กฎหมายจึงหมายถึงคำสั่งที่ได้กดไว้หมายไว้ให้เป็นที่แน่นอนเท่านั้น ทั้งนี้ คำว่า "กฎหมาย" เป็นคำกริยา ซึ่งประกอบขึ้นจากกริยา "กฎ" มีความหมายว่า "จดบันทึก, จดไว้เป็นหลักฐาน, ตรา" อันเป็นคำที่มาจากภาษาเขมรว่า "กต่" มีความหมายว่า "จด" + นาม "หมาย" ซึ่งแปลว่า "หนังสือ"[1]
แต่โบราณกาล เพื่อให้คำสั่งอันเป็นกฎหมายเป็นของขลังและเป็นที่เคารพเชื่อฟัง จึงมักมีการอ้างเอาความศักดิ์สิทธิ์แห่งสรวงสวรรค์ว่าเป็นที่มาของกฎหมายหรือเป็นที่มาของอำนาจที่ใช้ออกกฎหมาย เช่น ของอังกฤษ ในตอนต้นของกฎหมายมักเขียนว่า "อาศัยพระราชอำนาจอันทรงได้รับประทานจากเทพยุดาฟ้าดิน สมเด็จพระราชินีนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นไว้ดังต่อไปนี้" (อังกฤษ: The Queen, by the Grace of God, enacts as follows:)
ถึงแม้ว่าชั้นเดิม กษัตริย์จะชื่อว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์คือมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน แต่การจะสั่งให้เป็นกฎหมายนั้นก็ต้องอาศัยอ้างเหตุอ้างผลเพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นคำสั่งที่เป็นธรรม เหตุผลที่ยกขึ้นส่วนมากคือจารีตประเพณี เช่น กฎหมายไทยที่ว่า "อันว่าสาขคดีทั้งหลายดั่งพรรณนามานี้ อันบูราณราชกษัตริย์มีบุญญาภินิหารสมภารบารมีเป็นอธิบดีประชากร ผจญข้าศึกเสร็จแล้ว แลเป็นอิสรภาพในบวรเศวตรฉัตร ประกอบด้วยศีลสัจวัตรปฏิบัติเป็นอันดี...ทรงพระอุตสาหะพิจารณาคำนึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ แล้วมีพระราชบัญญัติดัดแปลงตกแต่งตั้งเป็นพระราชกำหนดบทพระอัยการไว้โดยมาตราเป็นอันมาก...มาตราบเท้าทุกวันนี้"[13]
สำหรับประเทศไทยนั้นเดิมทีมีกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเรียกเป็นการทั่วไปว่า "พระอัยการ" เป็นกฎหมายแม่บทเสมอรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน พระอัยการนี้ต่อมารู้จักกันในชื่อ "กฎหมายตราสามดวง" ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระขึ้นใหม่เพราะของเก่าล้วนสูญหายไปเมื่อตอนกรุงศรีอยุธยาแตกก็มี วิปริตผิดเพี้ยนไปก็มี เป็นต้น แต่พระอัยการนั้นพึงเข้าใจว่าเป็นกฎหมายก่อนกฎหมายตราสามดวง แต่มีวิวัฒนาการไปเป็นกฎหมายตราสามดวง
พระอัยการดังกล่าวมีที่มาจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย เนื่องจากเชื่อกันมาพระอัยการนี้เป็นของที่เทวดาบัญญัติขึ้น และจารึกไว้ที่กำแพงจักรวาลตรงสุดป่าหิมพานต์ มนุษย์เราเพียงแต่ไปพบมา จึงเป็นของศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิก หรือเพิ่มเติมอย่างไรไม่ได้ทั้งสิ้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายเกี่ยวกับระบบกฎหมายเก่าของไทยว่า[14]

แต่บทพระอัยการนี้เป็นของเก่า เขียนมาแต่โบราณ บางทีก็มีบทซับซ้อนกัน บางทีก็เขียนด้วยภาษาเก่าจนไม่สามารถจะเข้าใจได้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในบทพระอัยการเช่นนี้ก็เป็นหน้าที่ของขุนศาลตระลาการจะต้องนำบทพระอัยการที่เป็นปัญหานั้นขึ้นถวายให้ทอดพระเนตร และกราบบังคมทูลขอพระราชวินิจฉัยว่าเป็นอย่างไรกันแน่ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงพระราชวินิจฉัย...พระราชวินิจฉัยนั้นก็ถือว่าเป็นกฎหมายเอาไว้ใช้เป็นหลักได้ต่อไป เรียกว่าพระราชบัญญัติ ส่วนพระราชกฤษฎีกานั้นมีบทลงโทษเช่นเดียวกับกฎหมาย แต่ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นระเบียบภายในพระราชฐานหรือเท่าที่เกี่ยวกับพระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น มิได้ใช้บังคับในบ้านเมืองทั่วไปเหมือนกับกฎหมาย อีกอย่างหนึ่งคือพระราชกำหนด พระราชกำหนดนั้นแต่ก่อนมิได้เป็นกฎหมาย แต่เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งใช้กับข้าราชการที่รับราชการอยู่เท่านั้น จะได้ใช้บังคับแก่ราษฎรโดยทั่วไปก็หาไม่

ปรากฏในเสภาขุนช้างขุนแผนว่าพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องส่วนพระองค์เท่านั้น ในตอนที่ขุนช้างจะเข้าไปถวายฎีกาฟ้องร้องพลายงามต่อสมเด็จพระพันวษา บังเอิญว่าทรงเสด็จประพาสทางเรือ ขุนช้างจึงไปรอถวายฎีกาอยู่ริมน้ำ พบเรือพระที่นั่งกลับมาพอดีก็โจนลงน้ำลอยคอชูหนังสือฎีกาเข้าไปถวาย ณ เรือพระที่นั่ง ทำเอาบรรดาฝีพายและผู้อยู่บนเรือตกใจไปตาม ๆ กัน แต่การถวายฎีกานั้นมีธรรมเนียมว่าราษฎรมีสิทธิถวายที่ไหนก็ได้ และพระมหากษัตริย์ก็จะต้องทรงหยุดรับเสมอไป สมเด็จพระพันวษาจึงโปรดให้รับฎีกาของขุนช้างไว้ และทรงให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นใหม่ให้ชาวพนักงานคอยอารักขาพระองค์ให้จงดี อย่าให้ผู้ใดผลุบเข้ามาได้โดยง่ายเช่นครานี้ มิเช่นนั้นต้องระวางโทษถึงประหารชีวิต ดังเสภาว่า[14]
วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช
เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่
ขุนช้างมาถึงซึ่งวังใน
ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ ฯ
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงเดช
เสด็จคืนนิเวศน์พอจวบค่ำ
ฝีพายรายเล่มมาเต็มลำ
เรือประจำแหนแห่เซ็งแซ่มา
พอเรือพระที่นั่งประทับที่
ขุนช้างก็รี่ลงตีนท่า
ลอยคอชูหนังสือดื้อเข้ามา
ผุดโผล่ดงหน้ายึดแคมเรือ
เข้าตรงโทนอ้นต้นกัญญา
เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ
มหาดเล็กอยู่งานพัดพลัดตกเรือ
ร้องว่าเสือตัวใหญ่ว่ายน้ำมา
ขุนช้างดึงดื้อมือยึดเรือ
มิใช่กระหม่อมฉานล้านเกศา
สู้ตายขอถวายซึ่งฎีกา
แค้นเหลือปัญญาจะทานทนฯ
๏ ครานั้นสมเด็จพระพันวษา
ทรงพระโกรธาโกลาหล
ทุดอ้ายชั่วมิใช่คน
บนบกบนฝั่งดังไม่มี
ใช่ที่ใช่ทางวางเข้ามา
หรืออ้ายช้างเป็นบ้ากระมังนี่
เฮ้ยใครรับฟ้องของมันที
ตีเสียสามสิบจึงปล่อยไป
มหาดเล็กก็รับเอาฟ้องมา
ตำรวจคว้าขุนช้างหาวางไม่
ลงพระราชอาญาตามว่าไว้
พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป
หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา
ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน
ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์
แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน ฯ
ระเบียบกฎหมายไทยเป็นดังนี้มาจนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยก็ได้ยึดแนวทางตรากฎหมายอย่างอังกฤษ กระนั้น คำเรียกกฎหมายก็เฝืออยู่ เช่น บางฉบับตราเป็นพระราชกำหนดแต่ให้ชื่อว่าพระราชบัญญัติก็มี ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติสมัยนั้นมีความหมายอย่างเดียวกัน[13] ครั้นต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญสำหรับปกครองแผ่นดินขึ้นแล้ว ก็มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นฝ่าย ๆ ไป อำนาจในการออกกฎหมายจึงตกแก่ฝ่ายนิติบัญญัติ และกฎหมายก็เป็นระบบระเบียบดังกาลปัจจุบัน

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วัยรุ่นกับยาเสพติด


ปัญหาวัยรุ่นกับยาเสพติดเป็นเรื่องใหญ่มากในขณะนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมในปัจจุบันวัยรุ่น ถึงหันเข้าไปหายาเสพติดกันมากอย่างนี้

เท่าที่ได้มีการสำรวจมา สาเหตุใหญ่ของการเริ่มเข้าไปใช้ยาเสพติดของวัยรุ่นยังเป็นเรื่องของความ ”อยากลอง” ความเป็นวัยรุ่นของเขาทำให้เขาอยากลองในสิ่งแปลกใหม่ ร่วมกับอีกปัญหาหนึ่งคือการ “ตามเพื่อน” ความจริงแล้วเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่น ไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใด ที่จะสนใจเพื่อน อยากจะลอง อยากจะเป็นอย่างคนนั้นคนนี้ หรืออยากจะทำอย่างที่เพื่อนทำ จนกระทั่งกลายมาเป็นแฟชั่น ปัจจุบันมีเด็กบางคนหันเข้าไปหายาเสพติด เพียงเพราะรู้สึกว่า ใครๆ เขาก็ทำกัน เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นจะแปลกอะไร ถ้าถามว่ารู้โทษของยาเสพติดไหม เด็กๆ ก็รู้ แต่เพียงเพราะอยากที่จะตามเพื่อนๆ ไป ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด กลายไปเป็นเหยื่อของสารเสพติด

นอกจากนี้สภาพแวดล้อม ก็มีส่วนเอื้อให้มีปัญหายาเสพติดขึ้น เดิมทียาเสพติดเป็นสิ่งที่จะมีในสถานที่หรือแหล่งที่มีลักษณะจำเพาะในการระบาดของยาเสพติดเท่านั้น แต่ปัจจุบันยาเสพติดได้แพร่ระบาดมาถึงในโรงเรียนแล้ว เด็กๆ สามารถหายาเสพติดได้ในโรงเรียน และแม้แต่รอบรั้วโรงเรียนเองก็กลายเป็นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กของเราไปเสียแล้ว

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ทำให้เด็กบางคนเข้าไปสู่การใช้ยาเสพติด ก็คือปัญหาเรื่องของการต่อต้านผู้ใหญ่ อันนี้เป็นเรื่องตามวัยของเขาด้วย ด้วยความที่เขาอยากเป็นตัวของเขาเองทำให้เด็กบางทีรู้สึกไม่อยากเชื่อฟังสิ่งที่ผู้ใหญ่พูด บางทีก็แสดงความก้าวร้าวออกมา ถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูไม่เข้าใจ ก็จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบที่รุนแรงกับเด็ก หรือพยายามเข้าไปควบคุมหรือจัดการกับเขา เด็กก็จะยิ่งต่อต้านมากขึ้น อะไรที่เรารู้สึกว่าไม่ดี อะไรที่เราห้ามเขา อะไรที่เราบอกว่าอย่าทำ เด็กก็จะยิ่งอยากทำ เหมือนจะประชดผู้ใหญ่ไปทางหนึ่งด้วย แต่ด้วยประสบการณ์ที่ยังอ่อนอยู่ ทำให้ไม่ทราบว่าการประชดด้วยการใช้ยาเสพติดนั้นเป็นสิ่งที่มีอันตรายต่อตัวเองเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนปัจจัยต่อไปที่จะทำให้เด็กบางคนที่เมื่อหันเข้าไปลองแล้ว เกิดการติดยาเสพติดค่อนข้างจริงจัง คือปัญหาในเรื่องของภาวะทางอารมณ์ เด็กๆ หลายคนไม่มีความสุข เขารู้สึกเศร้าใจ รู้สึกทุกข์ใจ มีปัญหาต่างๆ รอบตัวโดยเฉพาะเรื่องในครอบครัว ความไม่ลงรอยกันในครอบครัว ความขัดแย้งกันของคุณพ่อคุณแม่ การทะเลาะเบาะแว้งกันที่บางทีถึงขนาดทำร้ายร่างกายกัน ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความสุข ความกลัดกลุ้มใจ ทุกข์ใจเช่นนี้แหละที่ทำให้เขาจมอยู่กับยาเสพติด บางคนอาจลองด้วยความตั้งใจ เพราะรู้สึกว่าในขณะที่ชีวิตไม่มีความสุขนั้น มีบางสิ่งบางอย่างที่ให้ความสุขกับเขาได้ ทำให้เขาลืมความทุกข์ต่างๆ เหล่านี้ไปได้ หากครอบครัวมีความสุข เด็กจะไม่คิดสนใจพึ่งยาเสพติดเช่นนี้

ปัจจุบันยาเสพติดได้เปลี่ยนรูปแบบของการระบาดไปมาก จากเดิมเคยพบเป็นเฮโรอีน ก็กลายเป็นยาบ้า ตัวยานี้ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยเข้าไปปรับหรือเปลี่ยนแปลงสารเคมีบางตัว ทำให้มีฤทธิ์ที่ทำให้ผู้เสพรู้สึกคึกคัก มีพลัง หรือเพลิดเพลินค่อนข้างมาก เราจึงได้ยินข่าวบ่อยๆ ว่า วัยรุ่นไปจัดปาร์ตี้กันเพื่อความสนุก แล้วมียาเสพติดเข้ามามีส่วนประกอบ เด็กหลายคนชอบใจติดใจความสนุกสนานที่ได้รับจากฤทธิ์ของยาที่ตัวเองใช้กับเพื่อน ก็มาเล่าให้เพื่อนฟัง ชักจูงกันว่าสนุกสนานดีกว่าที่ไปปาร์ตี้กันเฉยๆ หรือในหลายครั้งก็มีลักษณะของการมอมเมา คือมีการแอบปนยาเสพติดในงานที่จัด หรือเพื่อนบางคนอาจจะไม่รู้แต่พอได้รับผลที่เกิดความสนุกขึ้นมา ก็เกิดความติดใจแล้วอยากจะใช้อีก จึงทำให้เกิดยาแพร่ระบาดไปได้เร็ว

ยาเสพติดมีผลกระทบต่อตัวเด็กในหลายด้าน

ผลกระทบอันแรกที่เราอาจจะสังเกตได้อย่างชัดเจนก็คือผลการเรียน ยาเสพติดเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง ฉะนั้นความสามารถในการเรียน ความตั้งใจ สมาธิในการเรียนของเขาจะลดลง ผลการเรียนก็เริ่มตกลง เด็กจะเริ่มมีปัญหาในการฝ่าฝืนกฎระเบียบ เพราะอยากจะใช้ยา บางทีอาจเห็นเด็กอยากโดดเรียน ออกจากโรงเรียนก่อนเวลาโรงเรียนเลิก เพราะว่าอยากจะไปใช้ยาเสพติด หรืออาจพบมีปัญหาเที่ยวกลางคืนมากขึ้น

ผลกระทบต่อไป คือ ผลกระทบต่อร่างกาย ตัวยาเสพติดเองมีฤทธิ์โดยตรงต่อการทำงานของสมองของเราหรือมีฤทธิ์โดยตรงต่อทางร่างกาย การที่เราไม่หลับไม่นอนเอาแต่สนุกสนานนั้น ร่างกายเราสู้ไม่ไหว ก็จะทรุดโทรมลง เหนื่อย อ่อนเพลีย รู้สึกอยากจะนอนมากขึ้น เด็กอาจจะง่วงเหงาหาวนอนมากขึ้นในชั้นเรียน

ภาวะทางจิตใจเองก็มีผลให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล เกิดความรู้สึกก้าวร้าวมากขึ้น เพราะเมื่อมีความต้องการใช้ยา เด็กก็จะกระวนกระวาย เวลาใครเข้ามาขัดขวาง เด็กก็จะรู้สึกหงุดหงิด อาจจะทำอะไรลงไปที่รุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญคือในบางรายอาจเกิดอาการทางจิตขึ้นอย่างที่เราเห็นข่าวกัน โดยยาบ้าอาจทำให้เกิดอาการหลอนทางประสาท ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดระแวงว่าจะมีคนทำร้าย ดังนั้นเขาอาจทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้น เนื่องจากอาการทางจิตของเขา เช่น ใช้มีดจับคนเข้ามาเป็นตัวประกัน หรือกังวลว่าเขาจะทำร้ายตัวเอง ก็จะแสดงอาการก้าวร้าวต่อคนอื่นได้

ยาบ้ายังทำให้เด็กมีโอกาสทำผิดกฎหมายได้มาก ด้วยความที่อยากได้ยามาใช้ เด็กอาจจะเริ่มลักขโมย ขโมยของ หรือว่าทำผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น ขู่กรรโชกเพื่อที่จะได้เงินมา นอกจากนี้มีผลกระทบอีกอันหนึ่งซึ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจทีเดียว คือ เด็กกลายเป็นผู้ขายยาเสพติดเสียเอง เพื่อเอาเงินบางส่วนไปซื้อยามาเสพ ซึ่งตรงนี้เป็นผลกระทบซึ่งรุนแรงทีเดียวสำหรับเด็ก

การป้องกัน

ทำอย่างไรเด็กของเราจึงจะไม่หันมาใช้ยาเสพติดอย่างนี้ ความใกล้ชิดในครอบครัวนี่แหละคือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดในเรื่องปัญหายาเสพติด ความเอาใจใส่กับลูกไม่ได้เริ่มที่วัยรุ่น จริงๆ แล้ว เราเอาใจใส่รักใคร่กับเขามาโดยตลอด ความผูกพันอย่างนี้ ทำให้เด็กรับรู้และเข้าใจตระหนักดีว่า การหันเข้าไปหายาเสพติดทำให้ครอบครัวของเขาเกิดปัญหาขึ้น เขาจึงมีแรงยึดเหนี่ยวจากความรักความเอาใจใส่จากครอบครัว ทำให้ไม่หันเข้าไปหายาเสพติด

การพูดคุยกับลูกวัยรุ่นก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่ว่าจะพูดอย่างไรจึงจะพอเหมาะ ด้วยความกังวลใจ คุณพ่อคุณแม่อาจจะเข้าไปวุ่นวายกับชีวิตเขามากขึ้น เข้าไปควบคุมเขา เข้าไปกำกับดูแล เข้าไปดูว่าเขาคุยโทรศัพท์กับใคร ในกระเป๋าเขามีอะไรบ้าง เข้าไปค้นในห้องนอนของเขา ลักษณะเช่นนี้ต้องระวังในเด็กวัยรุ่น เขาไม่ชอบให้เราเข้าไปวุ่นวายกับชีวิตของเขา การใช้วิธีพูดคุยกันในทำนองของการไถ่ถามถึงเรื่องราวทั่วๆ ไป เปิดโอกาสให้เขาปรึกษาหารือ พร้อมที่จะรับฟังเขา จะทำให้ความรู้สึกต่อต้านของเด็กลดลง เมื่อเขาเห็นว่าเราวางใจเขา ก็จะยินดีให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาว่าเวลานี้ เขาคิดอย่างไร เขารู้สึกอย่างไร คุณพ่อคุณแม่อาจลองถามไถ่ต่อไปว่า มีบ้างไหม เขาบังเอิญเข้าไปใกล้ชิดกับปัญหาเรื่องยาเสพติด เขาคิดว่าเขาจะป้องกันตัวเองอย่างไร ถ้าเราพูดกับลูกอย่างนี้ เราจะได้แนวคิดว่าจริงๆ แล้วลูกเรามีความพร้อมในเรื่องการดูแลตัวเองจากยาเสพติดไหม ถ้าเขามีแนวคิดที่ดีอยู่แล้ว เขาป้องกันตัวเองอยู่แล้ว เราก็ให้เพียงแค่การสนับสนุน ชื่นชมเขา หรืออาจเสนอข้อมูลที่เราได้รับรู้มาใหม่ๆ เพื่อเขาจะได้ระมัดระวังตัวเขาเองมากขึ้น

อีกประการหนึ่ง คือเรื่องการสังเกตพฤติกรรม โดยเมื่อเริ่มมีปัญหาแล้วเรารีบเข้าไปแก้ปัญหาโดยเร็ว ก็ย่อมจะดีกว่าปล่อยให้เขาติดยาเสพติดจนเรื้อรังจนแก้ไขได้ยาก การสังเกตพฤติกรรมช่วงแรกๆ จะพบว่าเด็กเริ่มมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอารมณ์หงุดหงิดและก้าวร้าว เด็กบางคนอาจเก็บตัวมากขึ้น หรือมีพฤติกรรมที่แอบซ่อน เพราะว่าเขาคงไม่อยากเปิดเผยถึงการใช้ยาของเขาให้เราทราบ ถ้าเขามีปัญหาของการแอบซ่อนอย่าใช้วิธีค้นอย่างที่ว่า เพราะยิ่งหาเด็กก็ยิ่งพยายามซ่อน ระยะนี้อาจเพียงแต่เฝ้ามองพฤติกรรมอยู่ห่างๆ ดูซิว่าลูกเริ่มโกหก ลูกเริ่มแสดงพฤติกรรมหลอกลวงหรือเปล่า แล้วก็ดูด้านอื่นร่วมกันด้วย เช่น เรื่องการเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจจะประสานกับคุณครูที่ดูแลลูกว่าขณะนี้ลูกมีปัญหาในชั้นเรียนอย่างไรไหม มีผลการเรียนตกลงไหมเพราะอะไร

กลุ่มเพื่อนของลูกก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรายอมรับเพื่อนของลูก เราก็สามารถติดตามได้ว่าเขาไปทำอะไรกันที่ไหนบ้าง แต่ถ้าเราปฏิเสธไม่ยอมรับเพื่อน ลูกก็จะเริ่มไม่บอกกับเราอย่างตรงไปตรงมา อาจยังแอบคบหาสมาคมกันโดยที่เราไม่รู้ ซึ่งข้อนี้จะเป็นอันตรายมากกว่า เพราะเราไม่มีทางทราบว่าเขาไปทำอะไร ที่ไหน เมื่อไรบ้าง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เปิดใจรับให้เพื่อนของลูกเข้ามาในบ้าน เข้ามาพูดคุยกัน ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันที่บ้าน ซึ่งดูแล้วอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เช่น เขาอาจจะอยากขอมาเล่นดนตรีด้วยกันที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรอนุญาตหรือยอมให้เขาทำอะไรบางอย่างร่วมกันบ้าง คุณจะได้เห็นลูกกับเพื่อนในสายตาอยู่เกือบตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยได้มากทีเดียวว่า ขณะนี้เขาไปทำอะไรที่ไหนบ้าง และการที่เราเปิดเผยกับลูก ยอมรับลูกในเรื่องต่างๆ เช่นนี้ จะทำให้ลูกเองก็พร้อมที่จะเปิดเผยกับเราด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเรามาร่วมมือกันอย่างนี้ก็คงช่วยกันไม่ให้ลูกเราหันเข้าไปหายาเสพติดกันได้

ที่มา http://www.ramamental.com/pan/addict.htm

"เกม"กับ"เยาวชน" ปัญหาที่(ใคร)ต้องแก้


ยิ่งนานวันก็ดูเหมือนว่านานาปัญหาเกี่ยวกับ "เยาวชน" จะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่า "เซ็กซ์" กับ "วัยรุ่น" "เด็กแว้น-เด็กสก๊อย" หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้อย่าง "เกม" กับ "เยาวชน" ที่ลุกลามถึงขั้นเกิดเหตุอึ้ง ทึ่ง เสียว เยาวชนก่อเหตุฆ่าแท็กซี่ โดยเลียนแบบพฤติกรรมจากเกม

เกือบทศวรรษที่ผ่านมานั้น "สื่อดิจิตอล" "สื่อใหม่" (New Media) เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมคอมพิวเตอร์ และเกมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในหมู่เยาวชนไทย ในด้านหนึ่งเกมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น การเล่นเกมทำให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน คลายเครียด เกิดความภาคภูมิใจเมื่อได้รับชัยชนะ ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการทำภารกิจให้ประสบความสำเร็จ

แต่ในทางตรงกันข้ามการเล่นเกมก็ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการเลียนแบบความรุนแรง การล่อลวง หรือแม้แต่ภาวะการติดเกม สารพันปัญหาที่สังคมต่าง "โยนความผิด" นั้น แท้จริงเกิดขึ้นจากเกมเพียงเท่านั้น กระนั้นหรือ

หรือเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ และใครต้องรับแก้ปัญหานี้ เชื่อว่าเยาวชนซึ่งอยู่ใกล้ต้นตอของปัญหา น่าจะให้สะท้อนปัญหาได้ชัดเจนที่สุด

น.ส.ศศิวิมล โคตรธนู หรือ น้องหญิง นักศึกษาหลักสูตรอุตสาห กรรมท่องเที่ยว แขนงธุรกิจการบิน คณะวิทยาการจัดการ ชั้นปีที่ 3 มหา วิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวถึงปัญหาเยาวชนติดเกม ว่าเกิดจากเพื่อนกันเองชวนต่อๆ กัน เมื่อไปลองเล่นแล้วก็ติด ในการเล่นเกมคอมพิว เตอร์นั้นส่งผลในทางบวกก็คือ ได้ฝึกทักษะการสังเกต ศัพท์ภาษาอังกฤษ คลายเครียด ในทางกลับกันผลเสียก็ตามมามากมายหากผู้เล่นเกมแบ่งเวลาไม่ถูกจะเสียทั้งเงิน การเรียน สังคม และยังส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมเลียนแบบโดยใช้ความรุนแรง

"ตามที่มีข่าวเด็กนักเรียน ม.6 ฆ่าคนขับรถแท็กซี่ตาย โดยวางแผนมาอย่างดีและอ้างว่าเลียนแบบเกมออนไลน์ สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น มองว่าควรเริ่มจากครอบครัวก่อนจะต้องรักและดูแลอย่างใกล้ชิด ร้านเกมควรตระหนักถึงปัญหาโดยควบคุมอายุของเด็กที่ไปเล่นเกมและจัดประเภทเกมให้เหมาะสม นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่เด็ดขาดในการปราบปรามกรณีร้านเกมหรือมีผู้นำเข้าเกมที่ไม่เหมาะสมเข้ามาในประเทศไทย" น.ส.ศศิวิมล กล่าว

นายธนัช สิทธาวรากุล หรือ น้องเจแปน หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่าตนเองก็เป็นผู้ที่ชอบเล่นเกม ปกติจะเล่นเกือบทุกวัน วันละ 3-4 ชั่วโมง เพื่อความสนุกสนานและคลายเครียด และเกมก็มีมากมายหลายประเภทให้เลือกเล่นและยังเป็นเกมที่สร้างสรรค์อีกด้วย

"ส่วนตัวมองปัญหาการเล่นเกมของเด็กว่า ขึ้นอยู่กับตัวผู้เล่นเองในการแยกแยะระหว่างความเป็นจริงกับบทบาทสมมติในเกมให้ออกจากกันให้ได้ รู้จักการแบ่งเวลาให้ถูก นอกจากนี้ ร้านเกมก็ต้องมีจิตสำนึกที่ดี ไม่นำเข้าเกมที่ไม่เหมาะสมเข้ามา ผู้ปกครองคอยช่วยสอดส่องดูแล สถาบันการศึกษาก็ช่วยผลักดันจัดหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็ก ปัญหาการติดเกมสำหรับเด็กก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป" นายธนัชกล่าว

นายทรงวุฒิ สาฟูวงศ์ หรือ น้องเคน หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาการเล่นเกมของเยาวชนขึ้นอยู่กับการเลือกที่จะเล่นเกม เนื่องจากเกมที่มีประโยชน์ ส่งเสริมปัญญาก็มีเยอะ แต่หากไม่รู้จักเลือกเล่นเกม หรือแบ่งเวลาก็จะส่งผลเสียตามมามากมาย เช่น สายตาเสีย ชอบเอาชนะ ก้าวร้าว เสียการเรียน เกิดการมั่วสุม ฯลฯ

"ด้านการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ตนเอง มองว่าสิ่งแรกควรเริ่มจากพ่อแม่ ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม คุยกับลูกให้ได้ทุกเรื่อง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายในครอบ ครัว ต่อมาหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการและบทลงโทษที่รุนแรง พร้อมทั้งเข้มงวดในการปราบปรามเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ควบคุมการเปิด ปิดร้านเกม มีการจัดแบ่งประเภทเกมให้เหมาะสมกับอายุของเด็กในแต่ละวัย และสิ่งสำคัญเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ต้องมีความชำนาญและตามให้ทันเกมใหม่ๆ จะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น" นายทรงวุฒิกล่าว

นานาทรรศนะจากเยาวชนไทย ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหา "เกม" กับ "เด็ก" ซึ่งต้นตอของปัญหาส่วนหนึ่งนั้น เกิดจากผู้ใหญ่แค่เปลือกนอกบางส่วน ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ขาดจิตสำนึกต่อสังคม โดยผลิตหรือนำเข้าเกมที่แฝงไปด้วยความรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่ตามมา

ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ "ใช้เงินเลี้ยงลูก" แต่ ขาดการดูแลเอาใจใส่ นอกจากนั้นการขาด "เจ้าภาพ" ที่ดูแลปัญหาเยาวชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหาใน เชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด ต่อผู้กระทำผิดของภาครัฐนั้น ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ "ปัญหาเยาวชน" กลายเป็นปัญหาที่เพิ่งล้อมคอก แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบไม่สิ้น

ก็คงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องแก้ไขอย่างจริงจัง อย่าแก้แบบไฟไหม้ฟาง หากแก้แบบนี้ ไม่ต้องมองถึงอนาคต แค่มอง ณ วันนี้ ยังดูว่า "รอดยาก"

ไม่ใช่เกิดปัญหาทีแก้กันที หากเป็นเช่นนี้ อนาคตที่ดีคงไม่มีสำหรับเด็กไทย
ที่มา http://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=231&Itemid=112

วัยรุ่นไทยกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง


จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ต่อมาในภายหลังพระองค์ยังทรงย้ำแนวทางการแก้ไข และสามารถดำรงชีวิตให้ประชาชนชาวไทยสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้น มีพสกนิกรชาวไทยหลายคนได้นำแนวทางปรัชญาพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กำลังครอบงำให้ประชาชนหลงใหลไปกับนโยบายที่พยายามให้ประชาชนมีหนี้ของภาครัฐ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้ระบบทุนนิยมที่พยายามสร้างค่านิยมให้กับวัยรุ่น วัยเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องใช้ของแบรนด์เนม ใช้ของราคาแพงเกินความจำเป็น ดังนั้นนักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ "วิถีชีวิตวัยรุ่นไทย ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง"

โดยมี "คุณปราโมทย์ ไม้กลัด รักษาการสมาชิกวุฒิสภา, ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, สุธัมมะ ธรรมศักดิ์ นักศึกษาปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์" ร่วมการสัมมนาโดยมีผู้ดำเนินรายการคืออาจารย์ "สร้อยนภา วัฒนากิตติกูล"
ทั้งนี้จากการสัมมนาคุณปราโมทย์ได้กล่าวว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้จำกัดไว้เพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ควรจะเรียกว่าปรัชญาความพอเพียง เพราะ หากปฏิบัติตนอยู่ในพื้นฐานของความพอเพียงแล้วจะอยู่ได้อย่างมั่นคง
โดยคุณปราโมทย์ได้ขยายความปรัชญาของความพอเพียงว่าแท้จริงแล้วคือไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ก็ตามต้องทำอย่างรู้จักพอประมาณ พอดี รู้เหตุผล
"หากโยงเข้าพระพุทธศาสนาก็คือทางสายกลางไม่สุดโต่ง ไม่ย่อหย่อน เรียกว่าพอดี" คุณปราโมทย์กล่าว และกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่าความพอเพียงสำหรับวัยรุ่นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือการทำให้วัยรุ่นเข้าใจเรื่องความพอเพียง แล้วก็เรื่องค่าใช้จ่ายของเขา เขาก็ต้องมีจิตสำนึก รู้จักการบริหารเงิน รู้จักใช้จ่ายคือเราต้องทำให้เขาเข้าใจและตระหนัก"
"ปัจจุบันเราเห็นเป็นจำนวนมากที่ไม่เข้าใจไม่ตระหนัก วัยรุ่นเป็นวัยแสวงหา เที่ยวเตร่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย มือถือ เรารู้สึกได้ว่าเขาไม่มีสำนึกตรงนี้น่าเป็นห่วง"
ส่วนคุณสุธัมมะให้ความเห็นเรื่องความพอเพียงว่าความพอเพียงไม่ได้จำกัดอยู่ในเรื่องของเกษตรเท่านั้น และอยู่อย่าง งก อย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นการอยู่อย่างไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
"ใครอยากไปเที่ยวที่ไหนก็ไปได้ แต่ต้องดูด้วยว่ามีกำลังพอที่จะเที่ยวได้เท่าไหร่ หากต้องหยิบยืมเงินเพื่อนอย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าเพียงพอ คือเราต้องรู้จักพอประมาณเช่น นักศึกษาหญิงหลายๆ คนอาจจะมีรองเท้ามากกว่า 5 คู่ ที่จริงแล้วมีสัก 3 คู่ก็น่าจะพอคือมีรองเท้าแตะ 1 คู่ รองเท้าผ้าใบ 1 คู่ แล้วก็รองเท้าสำหรับสวมมาเรียนอีก 1 คู่"
นอกจากนี้ในเรื่องของการเดินชอปปิ้งนั้นสุธัมมะยังบอกด้วยว่าถ้าไปโดยมีเป้าหมายว่าจะไปเพื่อซื้ออะไร ซื้อไปเพื่อทำอะไรแบบนี้เรียกว่ามีเหตุผล แต่ถ้าไปเดินๆ อยู่แล้วเจอของสักชิ้นที่ถูกใจก็ซื้อเลยโดยไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นเช่นนี้ก็ถือได้ว่าไม่รู้จักพอประมาณ
"เชื่อว่าในยุคนี้คงจะมีโทรศัพท์มือถือใช้กันแทบทุกคน แต่การที่จะใช้อย่างพอเพียงก็ควรจะดูว่าตัวเองมีความจำเป็นในการใช้แค่ไหนเช่นใช้โทรออก รับสาย ถ่ายรูป ก็เลือกใช้รุ่นที่มีเท่าที่ใช้ ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้รุ่นที่มีราคาสูงแล้วพวกฟังค์ชั่นต่างๆ ที่มีก็ไม่ได้ใช้แบบนี้ก็เรียกว่าไม่รู้จักเพียงพอ"
ส่วนเรื่องที่วัยรุ่นใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากนั้น สุธัมมะให้ความคิดเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เราอยู่ในกระแสวัตถุนิยมที่ไม่ได้เชิดชูเรื่องของจริยธรรมและคุณธรรม
"สมมติมีลุง 2 คนเดินมา ลุงคนหนึ่งสวมสูท ส่วนลุงอีกคนหนึ่งสวมเสื้อม่อฮ่อม ต้องถามว่าเราจะไหว้ใคร แน่ล่ะส่วนใหญ่ก็จะไหว้คนสวมสูทก่อน เพราะ เราไม่ได้นับถือคนที่จิตใจ เรื่องนี้เราต้องดูว่าเป็นเพราะอะไร และสาเหตุหนึ่งก็คือลัทธิทุนนิยมที่ครอบงำ เช่นการเปิดเสรีทางการค้า ก็เป็นการพยายามให้ได้ผลประโยชน์ในตัวเงินมากที่สุด พ่อค้าก็ต้องหาทางกระตุ้นให้เราซื้อสินค้าของเขา
ยิ่งหากมีรัฐบาลที่เป็นพ่อค้ามาส่งเสริมตรงนี้ ยิ่งทำเรื่องพอเพียงได้ยาก"
ทางด้านดร.ปรียานุชกล่าวว่าการที่จะรู้ว่าตัวเองใช้ชีวิตอย่างพอเพียงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องยากโดยยกตัวอย่างเรื่องค่าโทรศัพท์ที่บางเดือนนักศึกษาบางคนใช้มากจนไม่มีเงินเหลือพอที่จะซื้อหาขนมมาทาน
"ตรงนี้เราต้องรู้ว่าตัวเราเองมีความสามารถในการใช้จ่ายแค่ไหน ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เดือนต่อไปเกิดขึ้นอีก การซื้อของก็เหมือนกัน เราต้องรู้จักประมาณ ไม่ใช่เห็นอะไรอยากได้อยากมีไปเสียหมดทุกอย่าง ทางแก้ก็คือตั้งสติให้ดีว่าเราจะใช้อะไร ทำอะไร สติเป็นก้าวแรกของการใช้เศรษฐกิจพอเพียง"
นอกจากนี้ดร.ปรียานุชยังได้แนะนำการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังนี้
- การพึ่งตัวเองเป็นหลัก การทำอะไรควรทำเป็นขั้นตอน รอบคอบ ระมัดระวัง - พิจารณาถึงความพอดี พอเหมาะ พอควร ความสมเหตุสมผล และการพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง - การสร้างสามัคคีให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความสมดุลในแต่ละสัดส่วน แต่ละระดับ - ครอบคลุมทั้งทางด้านจิตใจ วัฒนธรรม สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจ
สุดท้ายคุณปราโมทย์ยังบอกอีกด้วยว่าปัญหาเรื่องความไม่รู้จักพอเพียงที่เกิดขึ้นนั้นจะโทษวัยรุ่นไม่ได้ ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ครู เป็นบุคคลที่สำคัญ เพราะ ผู้ใหญ่ต้องตระหนักและชัดเจนถึงความพอเพียง ถ้าผู้ใหญ่ยังไม่รับรู้ รับทราบ ตรงนี้อันตราย เพราะ เหมือนเรื่องแม่ปู กับลูกปู เขาเห็นผู้ใหญ่เป็นอย่างไร เขาก็เป็นแบบนั้น
ที่มา http://songkhlahealth.org/paper/512

"เศรษฐกิจพอเพียง" ปรัชญาของในหลวง กับการบริหารคน


"เศรษฐกิจพอเพียง" ปรัชญาของในหลวง กับการบริหารคน

หลายคนมองว่าปรัชญาเรื่อง “ความพอเพียง” และเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ดูจะเป็นเรื่องสวนทางและไม่สามารถไปกันได้ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นทุกวันนี้



หากในความเป็นจริง ถ้าลองได้วิเคราะห์ดูอย่างละเอียดแล้ว ความพอเพียงนั้นสามารถนำมาใช้ในการบริหารดำเนินงานได้ในทุกส่วนขององค์กร แม้แต่ในเรื่องการ “บริหารคน” เพราะขนาดองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับชาติ อย่างเครือซิเมนต์ไทย ยังขานรับว่าสามารถนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากรของตนเองได้และค่อนข้างประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาบุคลากรแบบพอเพียงนั้นเป็นไปได้จริงๆ

ความพอเพียงกับ HR สามารถไปด้วยกันได้อย่างไร

การที่จะปรับประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เหมาะสถานการณ์ และสำคัญที่ “กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย” โดยมีความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ

เมื่อนำกลับมาวิเคราะห์ใช้กับองค์กรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาบุคลากรล้วนต่างให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ทั้ง 2 แนวทางต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความสำคัญเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ และยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรเต็มตามศักยภาพของตน โดยการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลสำเร็จ จะต้องอาศัยหลักการสำคัญ 3 ประการ ในการประเมินความเป็นไปได้ต่างๆ และการตัดสินใจ ดังนี้คือ

1. พอประมาณ คือ ความพอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป หมายถึงการรู้จักให้โอกาสแก่บุคคลในองค์กร ในสิ่งที่สมควรได้ หรือตามความสามารถของพนักงานอย่างแท้จริง และรู้จักให้บุคลากรมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองด้วยตนเองด้วย เพื่อให้บุคลากรสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยเช่นกัน

2. มีเหตุผล การคำนึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การใช้เหตุผลในการบริหารคน และการตัดสินใจต่างๆ อย่างรอบคอบมากกว่าใช้อารมณ์ส่วนตัว และเป็นธรรม

3. มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น ในทางดีหรือร้าย แต่ก็ยังคงสามารถรักษามาตรฐานความเป็นกลางในการบริหารคนเอาไว้ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถนำหลักปรัชญาพอเพียง มาปฏิบัติกับการบริหารบุคลากรได้ คือการให้คุณค่ากับบุคลากร และทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นร่วมกันและเท่าเทียมกัน ซึ่งทั้ง 2 แนวคิดมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคนบนฐานความเชื่อว่า การพัฒนาหมายถึง กระบวนการที่ช่วยให้คนมีโอกาสในการที่จะปรับปรุงตนเอง และพัฒนาศักยภาพให้สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์ มีเสรีภาพและมีศักดิ์ศรี ที่สำคัญ ความพอเพียง” นั้นคือความพอดี ซึ่งมีความเชื่อว่าการพัฒนาต้องมีความยั่งยืน เสมอภาค เคารพธรรมชาติและใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยความระมัดระวัง ไม่มากหรือน้อยจนเกินไปในทุกเรื่องและมุ่งหวังประโยชน์ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

ซึ่งข้อดีของการนำแนวคิดแบบพอเพียงมาใช้กับการบริหารคน ถือเป็นการให้ความพอดีทั้งกับองค์กรและตัวของบุคลากรเอง
ที่มา http://www.vcharkarn.com/vcafe/127611

เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึงอะไร


เศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่ พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐนักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาขนโดยทั่วไป